เชื่อกันว่าการออกกำลังกายระดับต่ำถึงปานกลาง ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยโรคโครห์นหรือลำไส้อักเสบ
การเดินเล่นหรือการเล่นโยคะสามารถฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและลดความเครียดในผู้ป่วยไอบีดีซึ่งมีพฤติกรรมไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวร่างกาย ทั้งกลุ่มที่มีโรคสงบและกลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง และโดยมากมักไม่ทำให้อาการไอบีดีรุนแรงขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำการออกกำลังกายระดับปานกลาง (ร้อยละ 60 ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด) นาน 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน และแนะนำให้ออกกำลังกายแบบใช้แรงต้านสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก โดยมีการศึกษาวิจัยเสนอว่าการออกกำลังกายในระดับนี้อาจลดความเสี่ยงต่อการกำเริบของโรค
การออกกำลังกายที่ปลอดภัยและได้ผลดีสำหรับท่านมีดังนี้
การออกกำลังกายแบบยืดหยุ่น (Flexibility Exercises)
การออกกำลังกายแบบยืดหยุ่น เช่น การเหยียดกล้ามเนื้อและโยคะ จะช่วยให้กล้ามเนื้อยืดตัวได้ดีขึ้น โดยอาศัยการยืดเหยียดและการเคลื่อนไหวร่างกายซึ่งจะช่วยฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของข้อต่อ
การศึกษาวิจัยชี้ว่าการเล่นโยคะช่วยฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและลดการอักเสบของโรคในผู้ป่วยไอบีดี อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าโยคะสามารถลดอาการจากโรคโครห์นหรือลำไส้อักเสบได้หรือไม่
การออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อ (Strenghth Exercises)
การออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อช่วยเพิ่มศักยภาพของกล้ามเนื้อในการพยุงและรักษาความมั่นคงของข้อต่อ ท่านอาจออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อโดยยกน้ำหนักหรือใช้น้ำหนักตัวของท่านในการออกกำลังกาย เช่น สควอช วิดพื้น หรือครันช์
การออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อในช่วงโรคสงบสามารถลดความเสื่อมในการทำงานของกล้ามเนื้อ (โดยเฉพาะกล้ามเนื้อขา) ในผู้ป่วยไอบีดี การออกกำลังกายแบบคีเกล (การฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน) ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานซึ่งทำหน้าที่พยุงมดลูก กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้เล็ก และไส้ตรง อนึ่ง กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอาจเสื่อมได้จากหลายสาเหตุ เช่น ท้องผูกรุนแรง น้ำหนักเกิน การผ่าตัด อายุ การตั้งครรภ์ และการคลอดบุตร
การออกกำลังกายแบบแอโรบิค (Endurance Exercises)
การเดินเป็นการออกกำลังกายที่มีระดับต่ำถึงปานกลางที่นิยมกันมากที่สุด การศึกษาในผู้ป่วยโรคโครห์นซึ่งอยู่ในช่วงโรคสงบหรืออาการไม่รุนแรงชี้ให้เห็นว่า ผู้ป่วยร้อยละ 42 มีอาการของโรคลดลง ขณะที่ร้อยละ 58 มีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นทั้งในแง่รูปร่างและความพึงพอใจในชีวิต การศึกษาต่อมาพบว่ากลุ่มที่ออกกำลังกายมีอาการของโรคลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งต่างจากกลุ่มควบคุมซึ่งมีความรุนแรงและการอักเสบของโรคแย่ลง
มีการศึกษาพบว่าการเดินสายพานสามารถลดการอักเสบของลำไส้ใหญ่ และผู้ป่วยสามารถทนต่อการเดินได้นาน 1 ชั่วโมง ยังมีการศึกษาพบด้วยว่าการวิ่งสัปดาห์ละ 3 ครั้ง สามารถทำได้ในผู้ป่วยไอบีดีที่มีอาการไม่รุนแรงถึงรุนแรงปานกลาง นอกจากนี้ยังมีข้อมูลชี้ว่าการว่ายน้ำก็สามารถลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวดข้อได้
ความปลอดภัยของการออกกำลังกายระดับที่ใช้พลังงานสูง
การออกกำลังกายไม่สัมพันธ์กับการเกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาวในผู้ป่วยไอบีดี อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงความปลอดภัยของการออกกำลังกายระดับที่ใช้พลังงานสูงในผู้ป่วยโรคโครห์นหรือลำไส้อักเสบที่มีอาการรุนแรง
ข้อมูลบางส่วนเสนอว่าการออกกำลังกายระดับที่ใช้พลังงานสูงอาจส่งผลให้เกิดการอักเสบในลำไส้เล็ก โดยมีการศึกษาหนึ่งรายงานว่าการออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจนร้อยละ 60 ของค่าสูงสุด ไม่ส่งผลให้มีอาการของระบบทางเดินอาหารเพิ่มขึ้นในผู้ป่วยโรคโครห์นที่อยู่ในช่วงโรคสงบ
อีกด้านหนึ่ง มีการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าการออกกำลังกายระดับปานกลางด้วยการวิ่งสายพาน ส่งผลให้มีตัวบ่งชี้ของอาการท้องเสียและการอักเสบเพิ่มขึ้น ขณะที่การออกกำลังกายระดับต่ำสามารถป้องกันการอักเสบได้
การออกกำลังกายระดับที่ใช้พลังงานสูงทำให้มีเลือดไหลเวียนไปยังระบบทางเดินอาหารน้อยลง ซึ่งอาจกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ในผู้ป่วยไอบีดี ทั้งนี้การบีบตัวของลำไส้เป็นการยืดและหดตัวของกล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหารซึ่งควบคุมการเคลื่อนตัวของอาหารไปตามทางเดินอาหาร
ปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปแน่ชัดว่าการออกกำลังกายระดับที่ใช้พลังงานสูงปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยโรคโครห์นหรือลำไส้อักเสบหรือไม่ การศึกษาในผู้ป่วยที่เข้าร่วมการแข่งขันไตรกรีฬา มาราธอน และการแข่งจักรยานระยะไกล ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของการขับถ่ายที่บ่งชี้ถึงการอักเสบ อีกทั้งไม่พบการเปลี่ยนแปลงของอาการหรือคะแนนที่บ่งชี้ความรุนแรงและการอักเสบของโรค และผู้ป่วยร้อยละ 20 ที่มีคะแนนเปลี่ยนไปก็กลับมามีคะแนนที่ระดับเดิมภายใน 1 สัปดาห์
ควรพิจารณาวางแผนการออกกำลังกายของท่านเท่าที่สามารถจะทำได้ เช่น การเข้าชั้นเรียนออกกำลังกายระยะสั้นซึ่งมีช่วงพักเข้าห้องน้ำในกรณีจำเป็น หรือกำหนดเส้นทางการเดินออกกำลังกายในละแวกบ้านซึ่งไม่ไกลจากบ้านเพื่อนหรือบ้านญาติ หากท่านต้องหยุดพักหรือเข้าห้องน้ำ
เป็นการดีที่จะเรียนรู้ขีดจำกัดของร่างกายในแต่ละช่วงของไอบีดี ทั้งในช่วงโรคสงบ เมื่อเริ่มเกิดอาการไม่รุนแรงถึงรุนแรงปานกลาง และในช่วงที่อาการกำเริบเต็มที่เพื่อให้ท่านตระหนักถึง "ความปกติ" ในแต่ละช่วงของโรค
ผู้ที่อยู่ในช่วงโรคสงบหรือช่วงที่มีความรุนแรงและการอักเสบของโรคเล็กน้อยสามารถออกกำลังกายระดับต่ำถึงปานกลางได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะเป็นโอกาสดีสำหรับการเพิ่มความแข็งแรงของร่างกายและทดลองกิจกรรมใหม่ พัฒนาการของท่านในช่วงนี้จะส่งผลดีย้อนกลับมาหาท่านในช่วงโรคที่กำเริบหรืออยู่ในภาวะเครียดสูง
ท่านอาจต้องการหยุดออกกำลังกายเมื่อรู้สึกไม่สบายในช่วงที่เริ่มมีความรุนแรงและการอักเสบของโรคระดับปานกลางถึงรุนแรง โดยท่านอาจเน้นกิจกรรมเบา ๆ เช่น เดินเล่นหรือโยคะ ในช่วงที่โรคกำเริบ ท่านควรออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงโดยเน้นฝึกกล้ามเนื้อไปทีละส่วนโดยไม่หักโหมและหยุดเมื่อจำเป็น
ผู้ที่ฟื้นตัวจากการผ่าตัดควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพถึงการรักษาความสมบูรณ์ของร่างกาย และวางแผนฟื้นฟูความแข็งแรงอย่างค่อยเป็นค่อยไป