โรคโครห์นอาจแสดงอาการได้หลากหลายตั้งแต่อาการในระดับเล็กน้อยถึงรุนแรงมาก ขึ้นกับตำแหน่งของทางเดินอาหารที่เกิดการอักเสบและความกว้างของบริเวณที่เกิดโรค ดังนี้

อาการเล็กน้อย

ผู้ป่วยมักจะมีอาการถ่ายเหลว ปวดเกร็งช่องท้องแต่ยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันและรับประทานอาหารได้ตามปกติ
โดยทั่วไปจะไม่พบอาการซีด ขาดน้ำ ไข้สูง ไม่มีลำไส้อุดตัน ไม่มีน้ำหนักลดมากกว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนักเดิม หรือไม่พบอาการปวดเนื่องจากก้อนในทางเดินอาหาร

อาการปานกลาง

ผู้ป่วยมักมีอาการถ่ายเหลว ปวดเกร็งช่องท้อง มีไข้ น้ำหนักลดลงอย่างชัดเจน และมีอาการของโลหิตจาง เช่น
อ่อนเพลีย หายใจเร็ว ปวดหรือเวียนศีรษะ

อาการรุนแรง

มักหมายถึงผู้ป่วยที่ยังมีอาการอย่างต่อเนื่องและรุนแรงทั้งๆ ที่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม มักพบอาการซีด ไข้สูง อาเจียนอย่างต่อเนื่อง หรือมีภาวะขาดน้ำ อาจพบหลักฐานว่ามีการอุดตันของลำไส้ หรือพบฝีหนองในทางเดินอาหาร และมักมีน้ำหนักลดลงอย่างมาก

ภาวะแทรกซ้อนของโรคโครห์น

โรคโครห์นเป็นโรคเรื้อรังมีลักษณะเป็นๆ หายๆ จึงมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ที่พบได้บ่อย เช่น ฝีในท้อง ลำไส้ตีบร่วมกับภาวะลำไส้อุดตัน บางรายอาจเกิดโพรงเชื่อมต่อจากลำไส้กับอวัยวะอื่น(fistula) นอกจากนี้ยังอาจเกิดเลือดออกในทางเดินอาหารหรือติดเชื้อได้อีกด้วย ผู้ป่วยโรคโครห์นมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ตามมาได้เช่นกัน แต่ความเสี่ยงจะน้อยกว่าผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังรวมถึงกรณีเกิดรอยโรคหรือการอักเสบที่ลำไส้เล็ก ก็อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้เล็กตามมาได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามโอกาสเกิดน้อยมาก การเกิดการอักเสบเรื้อรังที่บริเวณลำไส้เล็กยังอาจทำให้ขาดวิตามิน และเกลือแร่ที่สำคัญต่อร่างกายได้อีกด้วย เนื่องจากทำให้ลำไส้เล็กไม่สามารถดูดซึมวิตามินและเกลือแร่ได้

จะรู้ได้อย่างไรเมื่อโรคกำเริบ ? ข้อควรปฏิบัติทำอย่างไร ?

ธรรมชาติของโรคโครห์นจะมีการดำเนินโรคแบบเรื้อรัง คือ เมื่อได้รับการรักษาจนหายแล้วระยะหนึ่งก็จะกลับเป็นซ้ำหรือมีอาการกำเริบใหม่เป็นๆหายๆเป็นช่วงๆ จากงานวิจัยพบว่ามีโอกาสกำเริบหรือกลับมาเป็นซ้ำถึงร้อยละ 50 ในช่วงปีแรก และการที่โรคกำเริบ บ่อยๆ จะยิ่งทำให้มีโอกาสเกิดโรคซ้ำหรือกำเริบต่อไปในอนาคตมากขึ้นเรื่อยๆในขณะที่หากคุมอาการของโรคได้เป็นปี โอกาสที่โรคจะสงบในปีถัดมาจะสูงถึงร้อยละ 80 ดังนั้นการให้ความร่วมมือในการรักษา เช่น รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตัวให้เหมาะสมจะมีความสำคัญต่อการรักษาโรคระยะยาวอย่างมาก ดังนั้นผู้ป่วยควรหมั่นสังเกตอาการตนเอง หากเริ่มมีอาการผิดปกติที่บ่งบอกถึงภาวะโรคกำเริบควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที อาการหรือสัญญาณเตือนที่ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ก่อนนัด ได้แก่
อาการต่างๆ ของโรคแย่ลง
มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน
อาการที่เคยควบคุมได้ กลับมากำเริบอีก
แพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียง จากยาจนไม่สามารถทนได้