โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังอาจแสดงอาการได้หลากหลายตั้งแต่อาการในระดับเล็กน้อยถึงรุนแรงมาก ขึ้นกับตำแหน่งของลำไส้ใหญ่ที่เกิดการอักเสบและความกว้างของบริเวณที่เกิดโรค ดังนี้

อาการเล็กน้อย

มักเป็นในผู้ป่วยที่มีการอักเสบบริเวณทวารหนัก มักจะมีอาการถ่ายเหลว โดยทั่วไปมักไม่เกิน 4 ครั้งต่อวัน อาจมีมูกปนเลือดได้ ปวดท้องเล็กน้อย ปวดเบ่งที่ทวารหนัก มักไม่ค่อยมีไข้ อาการปานกลาง

อาการปานกลาง

มักเป็นในผู้ป่วยที่มีการอักเสบบริเวณทวารหนักและกระจายขึ้นไปถึงลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการถ่ายเหลว หรือมีมูกปนเลือด โดยทั่วไปมักถ่ายประมาณ 4-6 ครั้งต่อวัน มักมีอาการปวดท้องปานกลาง ซีดเล็กน้อย

อาการรุนแรง

ผู้ป่วยมักมีอาการรุนแรง ถ่ายเหลวปนเลือดมากกว่า 6 ครั้งต่อวัน มีไข้สูง ปวดท้องรุนแรง ซีด หัวใจเต้นเร็ว

อาการรุนแรงมากและเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน

ผู้ป่วยมักมีอาการรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเฉียบพลัน มักมีอาการถ่ายเหลวปนเลือดอย่างชัดเจนมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน ปวดช่องท้องรุนแรง ซีดรุนแรงจนอาจต้องได้รับการให้เลือด เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงชีวิต

ภาวะแทรกซ้อนของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง

นอกจากอาการทั่วไปที่พบได้จากโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง เช่น ปวดช่องท้อง ถ่ายเหลวหรือมูกปนเลือด ผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น อาการรุนแรงจนไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา มีเลือดออกที่ลำไส้ใหญ่ปริมาณมาก หรือลำไส้โป่งพองจนเป็นอันตราย (toxic megacolon) ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายมาก อาจทำให้ลำไส้ทะลุ หรือฉีกขาด อาการแสดงของลำไส้โป่งพองจนเป็นอันตราย คือ ปวดท้อง ไข้ขึ้นสูง หัวใจเต้นเร็ว
นอกจากนี้การเป็นนานติดต่อกันหลายๆปี จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ จากงานวิจัยพบว่าผู้ที่เป็น โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังนาน 20 มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึงร้อยละ 7-10 และหากเป็น โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังนานถึง 35 ปี มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึงร้อยละ 35 ดังนั้นจึง แนะนำให้ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และตรวจชิ้นเนื้อเพื่อเฝ้าระวังมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ปีที่ 8 เป็นต้นไป และตรวจต่อเนื่องทุกปี

จะรู้ได้อย่างไรเมื่อโรคกำเริบ ? ข้อควรปฏิบัติทำอย่างไร ?

ธรรมชาติของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังจะมีการดำเนินโรคแบบเรื้อรัง คือ เมื่อได้รับการรักษาจนหายแล้วระยะหนึ่ง ก็จะกลับเป็นซ้ำหรือมีอาการกำเริบใหม่เป็นๆ หายๆ เป็นช่วงๆ จากงานวิจัยพบว่า ถ้าติดตามผู้ป่วยไปนาน 2 ปี จะมีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 20 ที่พบว่าโรคสงบไม่เกิดการกำเริบ โดยพบว่าการกำเริบของโรคมักจะเกิดขึ้นที่ตำแหน่งเดิมของลำไส้ใหญ่ ดังนั้นผู้ป่วยควรหมั่นสังเกตอาการตนเอง หากเริ่มมีอาการผิดปกติที่บ่งบอกถึงภาวะโรคกำเริบควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที อาการหรือสัญญาณเตือนที่ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ก่อนนัด ได้แก่
อาการต่างๆ ของโรคแย่ลง
มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน
อาการที่เคยควบคุมได้
กลับมากำเริบอีก
แพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียง จากยาจนไม่สามารถทนได้