การรักษาโรคโครห์น

เป้าหมายในการรักษาโรคโครห์น คือ บรรเทาอาการของโรค ลดการอักเสบ ทำให้โรคสงบ(remission)ให้นานที่สุด การรักษามีทั้ง การใช้ยาหรือการผ่าตัด แต่โรคโครห์นมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้บ่อยและอาจมีปัญหาหลังผ่าตัดตามมาได้ จึงนิยมเริ่มการรักษา ด้วยยา การใช้ยาในการรักษาโรคโครห์นจะคล้ายคลึงกับโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง แต่การพิจารณาใช้ยานอกจากความรุนแรงของโรค จะต้องพิจารณาถึงตำแหน่งของทางเดินอาหารที่เกิดโรค เนื่องจากโรคโครห์นจะเกิดการอักเสบในตำแหน่งที่หลากหลาย มากกว่าโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง กลุ่มยาที่มีการใช้ในผู้ป่วยโรคโครห์น ได้แก่
1
ซัลฟาซาลาซีน
(sulfasalazine)
เป็นยาที่ช่วยลดการอักเสบของลำไส้ใหญ่ จึงเหมาะในผู้ป่วยโรคโครห์นที่มีอาการอักเสบที่บริเวณลำไส้ใหญ่ ไม่ค่อยได้ผลกับโรคโครห์นที่เกิดการอักเสบที่ลำไส้เล็ก
2
แอซิด
(aminosalicylic acid)
เช่น เมซาลาซีน (mesalazine) ออลซาลาซีน (olsalazine) ช่วยลดการอักเสบของลำไส้ใหญ่ จึงเหมาะในผู้ป่วยโรคโครห์นที่มีอาการอักเสบในลำไส้ใหญ่เหมือนซัลฟาซาลาซีน แต่อาการข้างเคียงน้อยกว่า และราคาแพงกว่า เหมาะในผู้ป่วยที่มีรอยโรคหรือการอักเสบที่ลำไส้ใหญ่หรือลำไส้เล็กส่วนปลายเท่านั้น แต่ไม่ค่อยได้ผลกับโรคโครห์นที่ลำไส้เล็กส่วนต้นๆ
3
ยาปฏิชีวนะ
เช่น ซิโปรฟลอกซาซิน (ciprofloxacin) เมโทรนิดาโซล (metronidazole)
มักใช้สำหรับผู้ป่วยที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคโครห์น เช่น ติดเชื้อ หรือฝี
4
สเตียรอยด์
(steroids)
มีฤทธิ์ต้านอักเสบโดยการกดภูมิคุ้มกันที่มากผิดปกติ ถือเป็นยาหลักในการรักษาโรคโครห์น โดยเฉพาะในช่วงแรกของการรักษา เหมาะในผู้ป่วยโรคโครห์นที่มีระดับอาการปานกลางถึงรุนแรง
5
ยาปรับภูมิคุ้มกัน
(immunomodulators)
ออกฤทธิ์ช่วยกดภูมิคุ้มกันในร่างกายที่มากผิดปกติ และช่วยลดผลแทรกซ้อนที่เกิดจากการรับประทานสเตียรอยด์นานๆ
6
ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ หรือ ไบโอโลจิค
(biologics)
ออกฤทธิ์ยับยั้งกลไกการเกิดการอักเสบในระบบภูมิคุ้มกัน เป็นยาที่มีราคาแพงแต่มีผลดีกับโรคโครนห์หลายประการคือ นอกจากจะลดการอักเสบในลำไส้เล็กได้ดี ทำให้ผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงการใช้สเตียรอยด์และหรือยาปรับภูมิคุมกันได้ในบางราย ในรายที่เกิดโพรงเชื่อมต่อจากลำไส้กับอวัยวะอื่น(fistula) ยาไบโอโลจิคอาจทำให้โพรงเชื่อมต่อเหล่านั้นปิดได้ อีกทั้งถ้าสามารถให้ติดต่อกันเป็นเวลานานเชื่อว่าอาจลดการดำเนินโรคทำให้ความรุนแรงของพยาธิสภาพลดลงได้
นอกเหนือจากยาที่ใช้รักษาโรคโครห์นโดยตรงแล้ว ยังอาจใช้ยาอื่นๆ ร่วมด้วยเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้อุจจาระร่วง หรือยาบรรเทาปวด

การผ่าตัดสำหรับโรคโครห์น

โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคโครห์นไม่ควรผ่าตัดหากไม่จำเป็นจริงๆ เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดได้ และการที่โรคโครห์น เกิดการอักเสบตลอดชั้นของลำไส้ เมื่อผ่าตัดแล้วมักไม่หายขาดและมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูง การพิจารณาผ่าตัดจึงควรทำเฉพาะผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน ได้แก่
ฝีในช่องท้อง
ลำไส้ตีบและเกิดลำไส้อุดตัน
เลือดออกในลำไส้ที่รุนแรง
เกิดลำไส้โป่งพองจนเป็นอันตราย
เกิดมะเร็งลำไส้
ทางเดินอาหารเกิดเป็นโพรงเชื่อมต่อลำไส้ กับอวัยวะอื่นๆ(fistula) ซึ่งไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา